Friday, January 8, 2010

ตำนาน โนรา พัทลุง [ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า]

[ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า]

............................โนราเป็นการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ที่มีมาแต่โบราณ ด้วยกาลเวลาที่ยาวนานทำให้เรื่องเล่า "โนรา" ผิดเพี้ยนกันเป็นหลายกระแส เช่น
กระแสที่เล่าโดย ขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่มเทวา) อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ความว่า พระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมือง ๆ หนึ่ง มีชายาชื่อ นางศรีมาลา มีธิดาชื่อ นวลทองสำลี วันหนึ่ง นางนวลทองสำลีสุบินว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู ท่ารำมี ๑๒ ท่า มีดนตรีประโคม ได้แก่ กลอง โหม่ง ปี่ ทับ ฉิ่ง และ แตระ นางให้ทำเครื่องดนตรี และหัดรำตามที่สุบิน เป็นที่ครึกครื้นในปราสาท วันหนึ่ง นางอยากเสวยเกสรบัวในสระหน้าวัง ครั้นนางกำนัลเก็บถวายให้เสวย นางก็ทรงครรภ์ แต่ยัง
คงเล่นรำอยู่ตามปกติ วันหนึ่งพระยาสายฟ้าฟาดเสด็จมาทอดพระเนตรการรำของธิดา เห็นนางทรงครรภ์ ทรง ซักไซ้เอาความจริง ได้ความว่าเหตุเพราะเสวยเกสรบัว พระยาสายฟ้าฟาดไม่ทรงเชื่อ และเห็นว่านางทำให้ อัปยศ จึงรับสั่งให้เอานางลอยแพพร้อมด้วยสนมกำนัล ๓๐ คน แพไปติดเกาะกะชัง นางจึงเอาเกาะนั้นเป็นที่
อาศัย ต่อมาได้ประสูติโอรส ทรงสอนให้โอรสรำโนราได้ชำนาญ แล้วเล่าเรื่องแต่หนหลังให้ทรงทราบ ต่อมากุมารน้อยซึ่งเป็นโอรสของนางนวลทองสำลี ได้โดยสารเรือพ่อค้าไปเที่ยวรำโนรายังเมือง พระอัยกา เรื่องเล่าลือไปถึงพระยาสายฟ้าฟาด ๆ ทรงปลอมพระองค์ไปดูโนรา เห็นกุมารน้อยมีหน้าตาคล้าย
พระธิดา จึงทรงสอบถามจนได้ความจริงว่าเป็นพระราชนัดดา จึงรับสั่งให้เข้าวัง และให้อำมาตย์ไปรับ นางนวลทองสำลีจากเกาะกะชัง แต่นางไม่ยอมกลับ พระยาสายฟ้าฟาดจึงกำชับให้จับมัดขึ้นเรือพามา ครั้นเรือมาถึงปากน้ำจะเข้าเมือง ก็มีจระเข้ลอยขวางทางไว้ ลูกเรือจึงต้องปราบจระเข้ ครั้นนางเข้าเมืองแล้ว
พระยาสายฟ้าฟาดได้จัดพิธีรับขวัญขึ้น และให้มีการรำโนราในงานนี้ โดยประทานเครื่องต้น อันมีเทริด กำไลแขน ปั้นเหน่ง สังวาลพาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องทรงของ กษัตริย์ให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่กุมารน้อยราชนัดดา เป็นขุนศรีศรัทธา
ตำนานกระแสนี้ ยังมีเล่าเป็นคำกาพย์ไว้ด้วยใจความอย่างเดียวกัน

นางนวลทองสำลี เป็นบุตรีท้าวพระยา
นรลักษณ์งามหนักหนา จะแจ่มดังอัปสร
เทวาเข้าไปดลจิต ให้เนรมิตเทพสิงหร
รูปร่างอย่างขี้หนอน ร่อยรำง่าท่าต่างกัน
แม่ลายฟั่นเฟือน กระหนกล้วนแต่เครือวัลย์
บทบาทกล่าวพาดพัน ย่อมจำแท้แน่หนักหนา
จำได้สอบสองบท ตามกำหนดในวิญญาณ์
เมื่อฟื้นตื่นขึ้นมา แจ้งความเล่าเหล่ากำนัล
แจ้งตามเนื้อความฝัน หน้าที่นั่งของท้าวไท
วันเมื่อจะเกิดเหตุ ให้อาเพศกำจัดไกล
ให้อยากดอกมาลัย อุบลชาติผลพฤกษา
เทพบุตรจุติจากสวรรค์ เข้าทรงครรภ์นางฉายา
รู้ถึงพระบิดา โกรธโกรธาเป็นฟุนไฟ
ลูกชั่วร้ายทำขายหน้า ใส่แพมาแม่ย้ำไหล
พร้อมสิ้นกำนัลใน ลอยแพไปในธารัง
พระพายก็พัดกล้า เลก็บ้าพ้นกำลัง
พัดเข้าเกาะกะชัง นั่งเงื่องงงอยู่ในป่า
ร้อนเร้าไปถึงท้าว โกสีย์เจ้าท่านลงมา
ชบเป็นบรรณศาลา นางพระยาอยู่อาศัย
พร้อมสิ้นทั้งฟูกหมอน แท่นที่นอนนางทรามวัย
ด้วยบุญพระหน่อไท อยู่เป็นสุขเปรมปรีดิ์
เมื่อครรภ์ถ้วนทศมาส ประสูติราชจากนาภี
เอกองค์เอี่ยมเทียมผู้ชาย เล่นรำได้ด้วยมารดา
เล่นรำตามภาษา ตามวิชาแม่สอนให้
เล่นรำพอจำได้ เจ้าเข้าไปเมืองอัยกา
เล่นรำตามภาษา ท้าวพระยามาหลงไหล
จีนจามพราหมณ์ข้าหลวง ไปทั้งปวงอ่อนน้ำใจ
จีนจามพราหมณ์เทศไท ย่อมหลงไหลในวิญญาณ์
ท้าวพระยาสายฟ้าฟาด เห็นประหลาดใจหนักหนา
ดูนรลักษณ์และพักตรา เหมือนลูกยานวลทองสำลี
แล้วหามาถามไถ่ เจ้าเล่าความไปถ้วนถี่
รู้ว่าบุตรแม่ทองสำลี พาตัวไปในพระราชวัง
แล้วให้รำสนองบาท ไทธิราชสมจิตหวัง
สมพระทัยหัทยัง ท้าวยลเนตรเห็นความดี
แล้วประทานซึ่งเครื่องทรง สำหรับองค์พระภูมี
กำไลใส่กรศรี สร้อยทับทรวงแพรภูษา
แล้วประทานซึ่งเครื่องทรง คล้ายขององค์พระราชา
แล้วจดคำจำนรรจา ให้ชื่อว่าขุนศรีศรัทธา


............................บางกระแสเชื่อว่าการตั้งครรภ์ของนางศรีมาลา หรือนางนวลทองสำลีเกิดจากการลักลอบได้เสียกับพระม่วง หรือตาม่วงทองซึ่งเป็นมหาดเล็กในพระราชวัง จากนั้นจึงไปเสวยเกสรดอกบัวที่เทพสิงหรแบ่งภาคลง มาอยู่เพื่อถือกำเนิดในเมืองมนุษย์เป็นขุนศรีศรัทธา ดังความว่า เมืองพัทลุงที่บางแก้วมีเจ้าเมืองชื่อ
จันทรโกสินทร์ มเหสีคือนางอินทรณีมีเชื้อสายของชาวอินเดีย เมื่อทรงครรภ์ใกล้กำหนดจะประสูติ นางอินทรณีก็เดินทางกลับไป เพื่อประสูติที่บ้านเมืองของตนตามประเพณีที่ชาวอินเดียปฏิบัติกันมา แต่ พระครรภ์ครบกำหนดจึงต้องประสูติในเรือพระที่นั่งกลางทะเล พระธิดาที่ประสูติใหม่จึงได้นามว่า "ศรีคงคา" จากนั้นนางจึงนำขบวนเรือกลับพัทลุง ครั้นนางศรีคงคาเจริญวัยขึ้นเทวดามาดลจิตให้นิมิตฝันว่ามีเทพธิดามา ร่ายรำให้ดู ท่ารำมี ๑๒ ท่า นางจำได้และฝึกหัด โดยดูเงาในน้ำจนชำนาญ จึงได้ชักชวนพี่เลี้ยง นางสนมกำนัล และอำมาตย์ ลักลอบร่ายรำกันในปราสาท บรรดาทหารเห็นว่านางศรีคงคามีความสนุกสนานจึงจึงช่วยกันตัด
ต้นกล้วยพังลา (กล้วยตานี) มาทำเป็นหน้าพราน แล้วจัดทำเครื่องดนตรี มีกลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง และแตระ ตีประโคมประกอบการร่ายรำ เรื่องล่วงรู้ไปถึงพระบิดามารดา แต่ก็ทรงเก็บเรื่องเงียบไว้ ไม่ทัดทานแต่อย่างใด ครั้นต่อมาพระม่วงทองมหาดเล็กซึ่งเป็นบุตรของพระยาทองอู่หรือท้าวทองอู่ได้ลักลอบเข้าไปหานางศรีคงคม
และได้เสียเป็นสามีภรรยากัน ในเวลาต่อมานางเสวยเกสรดอกบัวในสระหน้าวัง โดยไม่มีใครรู้ว่าดอกบัวนั้น เทพสิงหรได้แบ่งภาคลงมาอยู่เพื่อกำเนิดในเมืองมนุษย์ เมื่อเสวยเกสรดอกบัวแล้ว นางศรีคงคาก็ตั้งครรภ์ ความทั้งหมดทราบถึงพระบิดามารดา ทรงสอบสวนเรื่องราวว่าใครเป็นสามีของนาง นางศรีคงคาไม่เปิดเผย
ความจริง ทำให้พระบิดาโกรธและเห็นว่าเป็นเรื่องชั่วร้าย ทำให้เกิดความอัปยศแก่บ้านเมือง จึงให้เนรเทศโดยเอานางลอยแพ พร้อมด้วยพระพี่เลี้ยงและนางสนมกำนัล แพลอยไปติดเกาะกะชัง นางและพี่เลี้ยงได้อยู่ที่เกาะ นั้นกับตายาย และได้เปลี่ยนชื่อเป็นนวลทองสำลี ต่อมาได้ประสูติโอรส ให้ชื่อว่า เจ้าชายน้อย และให้เจ้าชาย
น้อยฝึกหัดรำโนราจนชำนาญ แล้วเล่าเรื่องแต่หนหลังให้ทราบ เจ้าชายน้อยและพระมารดาได้ออกเที่ยวรำ โนราจนเป็นที่หลงใหลของชาวบ้าน และบรรดานายสำเภาที่เดินทางค้าขาย ข่าวการรำโนราของแม่ลูกล่วงรู้ ไปถึงพระอัยกา จึงให้นายสำเภารับ ๒ แม่ลูกเข้าเมือง แต่นางนวลทองสำลีไม่ยอมกลับ ท้าวจันทรโกสินทร์จึง พาทหารไปรับนางด้วยตนเอง เมื่อมาถึงบ้านเมือง ทุกคนก็อยากดูการรำโนรา ดังนั้นในงานพิธีรับขวัญ นางนวลทองสำลีและเจ้าชายน้อยจึงจัดให้มีการรำโนราด้วย โดยท้าวจันทรโกสินทร์ได้ประทานเครื่องต้น อันมี เทริด กำไลแขน ปั้นเหน่ง สังวาล พาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่อง ทรงของกษัตริย์ให้เป็นเครื่องแต่งตัวของโนรา และเรียกโนราในตอนแรกว่า "ชาตรี" นางนวลทองสำลีได้
เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นศรีมาลา ส่วนเจ้าชายน้อยได้รับบรรดาศักดิ์จากพระอัยกาเป็น "ขุนศรีศรัทธา" และทรง อนุญาตให้มีแผ่นดินอยู่เท่ากับโรงโนรา ดังนั้นเมื่อเข้าโรงโนราที่ไหนจึงต้องมีบทตั้งเมืองเปรียบเหมือนการไป หาแผ่นดินตั้งเป็นเมืองของตนเองแต่เป็นเมืองที่มีอำนาจปกครองและอาณาเขตเท่ากับพื้นที่ของโรงโนรา
เท่านั้น จึงมีสำนวนเปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่ของโนราว่า "แต่งตัวเทียมเจ้า กินข้าวเทียมหมา หากินใต้ แชง" จากนั้นขุนศรีศรัทธาจึงเที่ยวร่ายรำโนราไปในชมพูโลก และได้มาขึ้นแพที่หน้าวัดแห่งหนึ่ง เรียกว่าท่าแพ ภายหลังเพี้ยนเป็นท่าแค เพื่อตั้งโรงฝึกหัดศิษย์อยู่ที่โคกขุนทา (บ้านท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัด
พัทลุง) ดังปรากฏหลักฐานบริเวณที่เป็นเนินดินในบ้านท่าแค ที่ชาวบ้านเรียกว่า "โคกขุนทา" มาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ ยังมีตำนานโนราที่เล่าผิดเพี้ยนกันบ้างในบางส่วน อีกหลาย ๆ กระแส ทั้งที่เล่าโดยชาว พัทลุง สงขลา และ สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

[ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า]

No comments:

Post a Comment