Thursday, December 10, 2009

นิทาน ฟานด่อน สกลนคร [ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า]

[ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า]

เนื้อเรื่อง
..........................เดิมเมืองสกลนครปรากฏนามว่า เมืองหนองหารหลวง ซึ่งมีอดีตนิทานแห่งองค์สัมมาสัมพุทธโคดม บรมครูเจ้าของเรา
เมื่อศาสนาพระเจ้ากัสสป ขุนขอมราชบุตรเจ้าเมืองอินทปัฐนคร ได้พาครอบครัวบ่าวไพร่ของตนมาสร้างเมืองขึ้นที่ริมหนองหารหลวง ตรงท่านางอาบสมมุตินามว่าเมืองหนองหารหลวง ขุนขอมได้เป็นเจ้าเมืองขึ้น กับเมืองอินทปัฐนครขุนขอมมีราชบุตรคนหนึ่งชื่อสุรอุทกกุมาร คือ เมื่อวันประสูติมีอัศจรรย์บังเกิดขึ้นมีน้ำ พุเกิดขึ้นในที่ใกล้กับเมืองนั้น บิดาจึงให้นามว่า ซ่งน้ำพุ ต่อมาพอพระชนม์ของเจ้าสุรอุทก จำเริญวัฒนาครบ
๑๕ พรรษา ขุนขอมผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรม ฝ่ายกรมการราษฎร พร้อมกันเชิญเจ้าสุรอุทกขึ้นเป็นเจ้าเมือง สมมุตินามว่า พระยาสุรอุทก พระยา
สุรอุทก ปกครองบ้านเมืองต่อมามีบุตรชายสององค์ องค์พี่ปรากฏนามว่าเจ้าภิงคาร องค์น้องปรากฏนามว่า เจ้าคำแดง ในวันหนึ่งพระยาสุรอุทก มีคำสั่งให้เสนาข้าราชการจัดรี้พลโยธาออกตรวจอาณาเขตบ้านเมืองของตน ครั้นตรวจไปถึงปากน้ำมูลนที ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเขตอินทปัฐนคร เสนาข้าราชการทูลชี้แจงว่าที่นี้เป็นที่ แบ่งเขตเมืองหนองหารหลวงกับเมืองอินทปัฐนครตามลำน้ำมูลนทีจรดดงพระยาไฟ ขุนขอมซึ่งเป็นบิดาของพระองค์ กับเจ้าเมืองอินทปัฐนครได้มอบอำนาจให้ธนมูลนาค เป็นผู้รักษาอาณาเขตต่อไป
............................... พระสุรอุทกทรงพิโรธว่า ปู่กับบิดามอบอำนาจให้ธนมูลนาค ซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานรักษาอาณาเขตบ้าน เมืองยังไม่สมควร พระยาสุรอุทกชักพระขรรค์คู่กำเนิด ออกทำฤทธิ์ไต่ไปบนห้วงน้ำมูลนทีและแกว่งพระขรรค์ แสดงฤทธิ์ข่มขู่ ธนมูลนาคโกรธก็ทำฤทธิ์แสดงตนให้พระยาสุรอุทกเห็นเป็นอัศจรรย์ต่าง ๆ นานา ในขณะนั้น การแสดงฤทธิ์ต่างคนต่างไม่หยุดหย่อนท้อถอยซึ่งกันและกัน พระยาสุรอุทกก็ยกรี้พลโยธากลับบ้านเมืองของ ตน ฝ่ายธนมูลนาคก็ยังไม่ลืมความโกรธ จึงจัดกำลังโยธาเพื่อนงูทั้งหลายที่อยู่ในอำนาจของตนติดตามพระยา
สุรอุทกไปถึงหนองหารหลวง สำแดงฤทธิ์พลโยธาทั้งหลายให้เป็นฟานเผือกขาวงามบริสุทธิ์ทุกตัวเดินผ่าน เมืองไปที่โพธิ์สามต้น ชาวเมืองทั้งหลายเห็นจึงนำเหตุขึ้นกราบเรียนพระยาสุรอุทก พระยาสุรอุทกไม่มีความตรึกตรองอย่างหนึ่งอย่างใด สั่งให้นายพรานทั้งหลายไปช่วยกันล้อมจับเป็น
มาถวาย ถ้าจับไม่ได้ให้จับตาย นายพรานรับคำสั่งแล้วพร้อมทั้งราษฎรหลายคนติดตามไปจนถึงโพธิ์สามต้น จึงพบฝูงฟานเผือก นายพรานจัดคนเข้าล้อมฝูงนาคที่สำแดงตัวเป็นฟาน ฟานต่างหลบหนีกำบังตัวหายไป ยัง อยู่แต่ธนมูลนาคตัวเดียว ธนมูลนาคทำทีหลอกล่อนายพรานกับกำลังโยธาเข้าไปในป่าพอถึงหนองบัวสร้าง นาคฟานก็ทำทีเป็นเจ็บขา นายพรานกับพวกก็เข้าล้อมจะจับเอาเป็นก็ไม่ได้ จึงยิงด้วยหน้าไม้อันมีลูกปืนผสม ด้วยยาพิษ ลูกปืนถูกฟานเผือกเข้าที่สำคัญ ธนมูลนาคคิดว่าจะสู้รบกับพลไม่รู้เดียงสาก็เสียฤทธิ์จึงสูบเอาดวง
จิตออกจากกาย ฟานเผือกก็ถึงแก่ความตาย
................................ พอฟานเผือกตายแล้ว พระยานาคก็ทำฤทธิ์ให้ร่างกายฟานเผือกใหญ่โตเท่ากับช้างสาร ฝ่ายนายพราน เห็นได้ที ก็ให้กำลังโยธาเจ้ายกหามเอาซากศพฟานเผือกยกก็ไม่ไหวโดยความหนักเกินประมาณ นายพรานก็จัดกำลังเข้าลากเอาศพฟานเผือกลงมาทางโพธิ์สามต้น ครั้นถึงริมหนองหารหลวง จะชักลากซากศพฟาน เผือกสักเท่าใดก็ไม่ไหวจริง ๆ นายพรานจึงใช้ม้าเร็วนำเหตุไปกราบเรียนพระยาสุรอุทก พระยาสุรอุทกมีคำสั่ง
ให้เอาเนื้อมาถวาย นายพรานพร้อมโยธาและพลเมืองโดยมากเข้าเถือเนื้อฟานเผือก ๓ วัน ๓ คืน ก็ไม่หมด เนื้อฟานยังงอกทวีขึ้นเสมอจนคนในเมืองได้รับประทานทั่วกัน
ฝ่ายพระยาสุรอุทกได้รับประทานเนื้อฟานเผือก ก็มีความยินดีปรีเปรมเกษมสุข เพราะเป็นเนื้อที่มีรส หวานอร่อยดีกว่าเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ฝ่ายพระยานาคเมื่อรวบรวมกำลังโยธาได้แล้วก็ยังไม่หายความโกรธ พากัน ทำฤทธิ์มุดลงไปในน้ำหนองหารหลวง พอเวลากลางคืนคนในเมืองนอนสงัดเงียบดี พระยานาคกับกำลังรี้พล ขุดแผ่นดินเมืองให้ล่มลงเป็นน้ำเจือหนองหารหลวง พระยานาคก็ตรงเข้าจับพระยาสุรอุทกได้ ก็พารี้พลผูก
ด้วยบ่วงบาศพันธนาการชักลากลงไปที่ธนนทีแม่น้ำโขง พระยานาคพารี้พลชักลากพระยาสุรอุทก เลี้ยวไปงอ มาคดไปอ้อมมา เพื่อจะทรมานร่างกาย ให้พระยาสุรอุทกถึงแก่ความตายโดยลำบากเวทนา พอถึงแม่น้ำโขง พระยาสุรอุทกก็ถึงแก่มรณะภัย พระยานาคก็เอาศพพระยาสุรอุทก ไปถวายเจ้าเมืองอินทปัฐ ซึ่งเป็นเชื้อสาย วงศ์เดิม
.................................. ฝ่ายเมืองหนองหารหลวง เจ้าภิงคาร เจ้าคำแดง กับญาติวงศ์ข้าราชการ ชาวประชาชนซึ่งรู้สึกตัวก่อนจมน้ำ ก็ต่างคนต่างว่ายน้ำออกไปอาศัยอยู่ตามเกาะดอนกลางหนองหาร (ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่า เกาะดอนสวรรค์) ซึ่งเหลือจากกำลังนาคทำร้ายไม่หมด เจ้าภิงคารเจ้าคำแดงก็พาญาติวงศ์บ่าวไพร่ ขี่แพข้ามมาตั้งพักพลกำลังโยธาอยู่ที่โพนเมือง ริมหนองหารหลวงข้างทิศใต้ เจ้าภิงคารเจ้าคำแดง พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์ ไป
ตรวจหาชัยภูมิที่จะตั้งบ้านสร้างเมือง เห็นว่าคูน้ำลอดเชิงชุมเป็นที่ชัยภูมิดี และเป็นที่ประชุมรอยพระพุทธบาทด้วย เจ้าภิงคารจึงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะพาครอบครัวมาตั้งบ้านสร้างเมืองขึ้นที่ภูน้ำลอดนี้ เพื่อปฏิบัติรอยพระพุทธบาทด้วย ขอให้เทพยดาผู้มีฤทธิ์ จงช่วยอภิบาลบำรุงให้บ้านเมืองวัฒนาถาวรต่อไป
ในขณะนั้นมีพญานาคตัวหนึ่ง ชื่อว่าสุวรรณนาค ซึ่งเป็นผู้รักษารอยพระพุทธบาท ทำฤทธิ์เกล็ดเป็นทองคำผุดขึ้นมาจากพื้นพสุธาดล อภิเศกให้เจ้าภิงคารเป็นเจ้าเมืองหนองหารหลวง ให้พระนามว่าพระยาสุวรรณภิงคาร ก็ได้ราชาภิเษกกับพระนางนารายณ์เจงเวงราชธิดาของเจ้าเมืองอินทปัฐนครเป็น เอกมเหสี
พระยาภิงคารได้ครองบ้านเมืองโดยสวัสดิภาพ หนทางที่พระยาธนมูลนาค ชักลากพระยาสุรอุทกลงไปหาแม่น้ำโขงนั้น ก็กลายเป็นคลองน้ำไหลจาก
หนองหารหลวงตกแม่น้ำโขง คนทั้งหลายจึงเรียกคลองนั้นว่า คลองน้ำกรรม (หรือที่เรียกกันว่า ลำน้ำก่ำ) เพราะพระยานาคทรมาน ทรกรรมพระยาสุรอุทก ให้ถึงแก่มรณะภัยที่นั้น ส่วนหนทางที่นายพรานกับชาวเมือง ชักลากศพฟานเผือกลงมา ก็กลายเป็นคลองน้ำไหลตกลงในหนองหารหลวง คนทั้งหลายเรียกคลองนั้นว่า
คลองน้ำลาก
.................................... ฝ่ายเมืองหนองหารน้อย ไม่มีผู้ครองบ้านเมือง เสนาอำมาตย์จึงทำพิธีอธิษฐานเสี่ยงราชรถหาผู้ครองบ้านเมืองต่อไป รถอันเทียมด้วยม้ามีกำลังก็พามาสู่หนองหารหลวง ราชรถเข้าไปเกยที่วังเจ้าคำแดง เสนาอำมาตย์จึงทูลเชิญเจ้าคำแดงไปเป็นเจ้าเมืองหนองหารน้อย เมืองหนองหารน้อยกับเมืองหนองหาร หลวงจึงเป็นไมตรีพี่น้องกัน
คติ/แนวคิด
นิทานเรื่องฟานด่อนหรือเก้งเผือกให้แนวคิดและคติหลายประการ เช่น
๑.แนวคิดเรื่องสัตว์มีฤทธิ์ ในหมู่ชนกลุ่มที่อาศัยตามที่ลุ่ม มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เชื่อว่ามีสัตว์ที่สำคัญ คือพญานาค พญานาคอาจแสดงฤทธิ์ทำให้พื้นดินกลายเป็นห้วยหนองคลองบึงก็ได้ การเกิดหนองหารหลวง ซึ่งกว้างใหญ่เกิดจากพญานาคถล่มเมืองเดิมให้จมลงในหนองน้ำ ซึ่งเป็นการอธิบายการเกิดหนองน้ำของคน สมัยโบราณ
๒.เพื่อให้สมจริง นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ได้เขียนชื่อสถานที่ให้สอดคล้องกับชื่อในนิทานและชื่อหมู่บ้าน เช่น บ้านหนองบัวสร้าง บ้านโพธิ์สามต้น บ้านโพนเมือง ลำน้ำก่ำ เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกสนุก สนานที่มีชื่อบ้านเมืองปรากฏในนิทานและเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
๓.เป็นการบอกให้ทราบถึงวัฒนธรรมการกินของชาวอีสานที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ เช่น เก้ง แต่ใน ขณะเดียวกันสัตว์ที่มีลักษณะประหลาด เช่น สัตว์มีสีขาวเผือก หากรับประทานจะมีโทษต่อร่างกายและสังคม เกิดความหายนะได้ ความเชื่อเช่นนี้ทำให้ชาวอีสานถือว่าหากมีสัตว์ประหลาดเช่นนี้เข้าหมู่บ้านต้องทำพิธีขับ
ไล่เสนียดจัญไร
๔.เป็นการบอกให้ทราบว่า แต่เดิมชุมชนในสกลนครเป็นชนกลุ่มขอมมาปกครองก่อนที่จะมีชนกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาอาศัยในเวลาต่อมา

[ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า]

No comments:

Post a Comment