Saturday, December 12, 2009

ตำนาน พระมอเฒ่า สุรินทร์ [ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า]

[ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า]


เนื้อเรื่อง
..............พระมอเฒ่า(ตำนาน) เป็นคนที่มีความสามารถสูงในการจับช้างเก่งกว่าคนทั้งหลายตั้งแต่เป็นหนุ่ม จนกระทั่ง ได้รับตำแหน่งสูงสุดเป็นพระมอเฒ่า เมื่อได้รับตำแหน่งเป็นพระมอเฒ่าอันเป็นตำแหน่งทรงเกียรติสูงสุด พระมอเฒ่าจึงได้แต่งงานอยู่กินกับ ผู้หญิงคนหนึ่ง ต่อมาได้กำเนิดบุตรชาย ๑ คน ให้ชื่อว่า ก่อง ซึ่งตามธรรมเนียมประเพณี ของกลุ่มผู้เลี้ยงช้าง แล้ว ถ้าพระมอเฒ่าได้ลูกคนแรก เป็นผู้ชายบรรดาหมอช้างทั้งหลายก็จะพากันมาแสดงความยินดีและชื่นชม ถือว่าหมอช้างนั้นมีบุญบารมีมาก และหมอช้างทุกคนจะพากันเอาเปลือกไม้กระโดนมารองรับพร้อมกับยก ตำแหน่งสูงสุดให้ โดยไม่ต้องไต่เต้า ถ้าได้ลูกคนแรกเป็นหญิงทุกคนจะเสื่อมศรัทธา ในครั้งนี้เมื่อพระมอเฒ่าได้ ลูกคนแรกเป็นชาย จึงสร้างความยินดีให้กับพระมอเฒ่ายิ่งนัก พระมอเฒ่ามีลูกชายได้ตำแหน่งอันยิ่งใหญ่นี้ ต่อจากตน พระมอเฒ่าคิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรลูกชายของตนจึงจะมีความเชี่ยวชาญ มีความสามารถสูงใน การจับช้างเหมือนตน
.................ตามตำนานได้กล่าวเอาไว้ว่านายก่อง ลูกพระมอเฒ่าเคยเกิดเป็นช้างมาก่อน ต่อมาหมอช้างคล้องมาได้ จึงได้มาตายในหมู่บ้าน ด้วยสาเหตุอันใดไม่ทราบชัด พอเกิดใหม่มาเป็นลูกพระมอเฒ่าจึงระลึกชาติได้ เมื่อก่องเติบโตขึ้น ย่างเข้าสู่วัยหนุ่มพระมอเฒ่าต้องการฝึกให้ก่องมีความเชี่ยวชาญตามความสามารถในการจับช้าง วันหนึ่งพระมอเฒ่าจึงชวนภรรยาและลูกชายออกไปฝึกหัดจับช้างในป่า โดยไม่ได้บอกกล่าวให้หมอช้างคนอื่น ๆ รู้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา สามคนพ่อ แม่ ลูก ได้เดินทางถึงป่าดงช้างจึงแวะเข้าไปพักใกล้กับต้นไม้ใหญ่ ซึ่งมีชื่อว่า ต้นมุงมังใหญ่ ที่พวกหมอช้างเรียกว่า จังรมย์ หรือ ที่พักของพวกหมอช้าง เมื่อเก็บสัมภาระเป็นที่เรียบร้อยพระมอเฒ่า จึงให้ภรรยาอยู่เฝ้าจังรมย์ทำหน้าที่หุงหาอาหาร รอตนกับก่องกลับมา พิธีการคล้องช้างหรือพิธีออกไปโบดช้างหรือโพนช้าง ก็เริ่มขึ้นระหว่าง พระมอเฒ่า ผู้ทำหน้าที่เป็นหมอ ขี่คอช้าง ก่อง เป็น มะ ขี่ท้ายช้าง ในระหว่างเดินทางเข้าป่าก่อง ได้พูดกับพ่อพระมอเฒ่าว่า ขอให้พ่อคล้องเอา แม่ช้างแล้วลูกช้างจะตามมาเอง ท่านพระมอเฒ่าก็พยายามพูดให้ก่องเข้าใจว่า โดยธรรมเนียมการคล้องช้าง นั้นไม่ให้คล้องเอาแม่ช้างเพราะช้างจะอยู่ในป่าเพื่อก่อเกิดลูกตัวใหม่ และอีกอย่างหนึ่งแม่ช้างมีพละกำลังมาก และฝึกยากลำบากกว่าลูกช้างด้วย พ่อกับลูกก็ถกเถียงกันด้วยเหตุผลดีทั้งคู่ เมื่อเดินทางมาได้สักพักจึงพบเห็นช้างโขลงหนึ่ง ในช้างโขลงนั้นมีอยู่เชือกหนึ่ง ซึ่งจากการระลึกชาติได้ ของก่องทำให้ทราบทันทีว่าเป็นแม่ของตน เมื่อชาติปางก่อน ฝ่ายมอพระเฒ่าเมื่อเห็นช้างเชือกนั้นมีลูกเล็ก ๆ ก็อยากได้ลูกช้างเชือกนั้นจึงขับไล่เข้าไป ประชิดตัวอย่างไม่ลดละความพยายาม ในขณะที่พระมอเฒ่าทำหน้าที่ไล่ต้อนช้างป่าอยู่นั้น ก่องก็ ตะโกนบอกพระมอเฒ่าว่า "พ่อจ๋าขอให้พ่อคล้องเอาแม่ช้างเถิดอย่าได้คล้องเอาลูกมันเลยเพราะถ้าคล้องเอา
ลูกช้างอย่างเดียวก่องจะเกิดความสงสารแม่ช้างมาก ที่ต้องพาลูกวิ่งหนีเอาชีวิตให้รอด ด้วยระลึกชาติได้ที่ตัวเอง เคยเป็นลูกช้างและประสบชะตากรรมเช่นนี้มาก่อน จึงตัดสินใจกระโดดขึ้นบนหลังช้างป่าที่เคยเป็นแม่ของตนวิ่งเข้าไปในป่าพร้อม กัน โดยไม่อาลัยอาวรณ์และเป็นห่วงพระมอเฒ่าแต่อย่างไร ในขณะที่พระมอเฒ่าขับช้างไล่ตามก่องไปนั้น พระมอเฒ่าก็ร้องตะโกนเรียกให้ก่องกลับมาแต่ก่องทำเป็นไม่สนใจ ส่วนช้างป่าเมื่อมีคนกระโดด ขึ้นขี่บนหลังแล้วยิ่งตกใจแตกตื่นวิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว วิ่งเร็วขึ้น ๆ จนระยะระหว่างพระมอเฒ่ากับก่องห่างออกไปทุกขณะ พระมอเฒ่าจึงได้แต่ร้องเรียก "ก่องเอย" ก่องก็ขานรับแว่ว ๆ ว่า "กูก" …….ก่องเอย ……กูก….ในที่สุดเสียงขานรับของลูกชายก็จางหายไปเพราะแม่ช้างพาก่องเข้าไปใน ป่าลึกแล้ว เมื่อ พระมอเฒ่าตามลูกชายไม่ทันแล้ว พระมอเฒ่าจึงหวนกลับไปหาภรรยาที่เฝ้ารออยู่ที่จังรมย์ แต่แล้วอนิจจา พระมอเฒ่ากลับมาถึงจังรมย์ ได้พบแต่รอยเลือดและเศษเนื้อกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พระมอเฒ่าก็รู้แล้วว่า เสือได้เข้ามากัดกินภรรยาของตน มีเหลือเพียงเศษเนื้อส่วนแขนของนางเท่านั้น พระมอเฒ่าซึ่งหมดสิ้นแล้วทุกอย่าง ลูกก็เสียเมียก็ตาย พระมอเฒ่า จึงเก็บเอาส่วนแขนนางที่เหลือมาผูกมัดไว้ที่บ่วงบาศเดินทางกลับบ้าน ด้วยความสลดรันทดใจเหลือที่จะพรรณนาได้
เมื่อพระมอเฒ่ากลับมาถึงบ้าน บรรดาหมอช้างทั้งหลายต่างก็มาถามข่าวคราวทุกข์สุขของท่านที่ออก ป่าคนเดียว พระมอเฒ่าจึงตอบว่าเราหมดสิ้นแล้วทุกอย่างในชีวิตพร้อมกับตำแหน่งพระมอเฒ่า ท่านทั้งหลาย อย่ามาถามอะไรเราเลย บรรดาหมอช้างทั้งหลายต่างก็มองเห็นความเศร้าโศกเสียใจของพระมอเฒ่า จึงต่างก็ร่วมแสดงความเสียใจ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน ฝ่ายพระมอเฒ่าได้ประกาศขึ้นท่ามกลางที่ประชุม หมอช้างทั้งหลายว่า เราหมดสิ้นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ต่อไปท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวถึงเราอีกเลย เราขอฝากส่วนที่เป็นบ่วงบาศมีแขนนางติดไว้ด้วย ถ้าเข้าป่า ให้พูดถึงก่องทุกครั้งเพราะเขาได้เป็นเจ้าของช้างทุกเชือกใน ป่าแล้ว และเวลาฝึกหัดช้างทุกครั้งก็ให้เรียกถึงก่องด้วยทุกครั้งเช่นกัน
พระครูปะกำเมื่อเห็นเป็นเช่นนั้น จึงเข้าไปรับคำสั่งอาสาที่จะรับและรักษาประเพณีนี้เอาไว้โดยจะไม่อนุญาต ให้พ่อกับลูกเข้าป่าไปด้วยกัน และจะไม่อนุญาตให้นำภรรยาไปด้วย นอกจากนั้นหากช้างเชือกใดถูก
หมอช้างคล้องมาได้ก็จะไม่อนุญาตให้หมอช้างคนนั้นนั่งคอช้างเข้าป่าเด็ดขาด ดังนั้นระเบียบประเพณีการคล้องช้างเช่นนี้ จึงมีไว้จนถึงปัจจุบันโดยนับถือพระครูปะกำเท่านั้น พระมอเฒ่าจะไม่มีอีกต่อไป
คุณค่า/แนวคิด/สาระ
...................ตำนานพระมอเฒ่าเป็นนิทานพื้นบ้านของชาวกูยอะจืง (กูยผู้เลี้ยงช้าง) ที่ยึดถือว่าผีปะกำหรือพระครูปะกำ คือวิญญาณอันสูงสุดที่คอยปกป้องคุ้มครองช้าง ส่วนชื่อ ก่อง ลูกชายของพระมอเฒ่า ที่มีอดีตชาติเป็นลูกช้าง ผู้ตามหาแม่นั้น ได้รับการยกย่องให้เป็นวิญญาณคอยปกป้องช้างป่า ปัจจุบันหมอช้างชาวกูยจะเอ่ยชื่อก่องร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช้าง เป็นเยี่ยงอย่างในเรื่องความกตัญญูได้อย่างดี

[ตำนาน นิทาน เรื่องเล่า]

No comments:

Post a Comment