ปี 2010 รางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ถูกมอบให้กับ DMP Model
เกี่ยวกับการค้นหาคู่ที่เหมาะสมระหว่างแรงงานกับนายจ้าง
ซึ่งต้องอาศัยทั้งความพยายามและเวลา
หากนำเอาแนวคิดนี้มาประยุกต์กับการหาแฟน ลองมาดูกันว่า
เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง
รางวัลโนเบลทางด้านเศรษฐศาสตร์ปี 2010 ถูกมอบให้แก่ Peter Diamond, Dale
Mortensen และ Christopher Pissarides (DMP) ในแบบจำลอง
“การค้นหาและการจับคู่” (Search and Matching Model)
แบบจำลองที่ว่านี้เน้นไปที่ตลาดแรงงาน (Labor Market)
โดยทั้งแรงงานและนายจ้างต่างก็ต้องค้นหาซึ่งกันและกัน
เพื่อให้ได้คู่ที่เหมาะสมที่สุด
แรงงานต้องการนายจ้างที่มีงานในแบบที่ตนเองต้องการ
ขณะที่นายจ้างเองก็ต้องการแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมกับงานที่ตนเองมีอยู่
แต่เนื่องจากการมีข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์ของทั้งแรงงานและนายจ้าง
(imperfect information about trading partners)
อุปสงค์และอุปทานของแรงงานที่หลากหลาย (heterogeneous demand and supply)
การติดสัญญาต่างๆ หรือกระบวนการต่างๆ ที่ล่าช้า (slow mobility)
การไม่ให้ความร่วมมือแก่กันและกันเพื่อการค้นหาที่ดีกว่าอย่างเต็มที่
(coordination failures) และปัจจัยอื่นๆ
จึงส่งผลให้การค้นหาซึ่งกันและกันมีต้นทุน
จนบางครั้งต่างฝ่ายต่างก็ไม่อาจรอจนเจอคู่ที่เหมาะสมที่สุดได้
ความไม่ลงรอยกัน (friction) ของการการค้นหาและการจับคู่ (search and match)
มีบทบาทสำคัญมากในตลาดแรงงาน
และก็ไม่ใช่ว่าอธิบายได้เฉพาะตลาดแรงงานเท่านั้น
แต่ยังสามารถอธิบายตลาดขายบ้าน เสื้อผ้า สินค้ามือสอง สินค้าเน้นดีไซน์
รวมไปถึงการหาแฟนได้อีกด้วย ซึ่งตัว Diamond, Mortensen และ Pissarides
เองก็ได้เอ่ยถึงประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน
“หาคนที่เหมาะสมสักคนคงยากเพราะมีคนมากมายบนโลกใบนี้” (ที่มาของภาพ)
ขออธิบายถึง DMP Model
ในตลาดแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาและจับคู่ของแรงงานและนายจ้าง
ไปพร้อมๆ กับการหาแฟนซึ่งเป็นการค้นหาและจับคู่ของผู้หญิงและผู้ชาย
ซึ่งหากรำมาประยุกต์ใช้ก็น่าจะมีประเด็น ดังต่อไปนี้
๑. การตามหาคนที่เหมาะกับเราต้องอาศัยเวลา…เสมอ (Finding Mr./Mrs. Right
takes time. Always.)
ไม่ต่างไปจากการค้นหาและจับคู่กันของแรงงานและนายจ้างที่เหมาะสม
ซึ่งเราต้องใช้ทั้งเวลา ความพยายาม และบางทีอาจจะต้องใช้เงินด้วย ดังนั้น
การตามหาคนที่เหมาะสม โดยเพียงแค่นั่งรอคอยนั้นจึงไม่เพียงพอ
เนื่องจากการจะเจอคู่ที่เหมาะสมตามมีตามเกิดนั้นมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก
๒. ความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ (Shit happens.)
และทำให้ความสัมพันธ์ก็จะสิ้นสุดลง ซึ่งบางครั้งก็เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น
นายจ้างอาจประสบปัญหาในการบริหารจัดการ หรือแรงงานอาจประสบปัญหาสุขภาพ
จึงทำให้ความสัมพันธ์ที่เคยมีประสิทธิภาพในครั้งหนึ่งก็จะไม่มีประสิทธิภาพ
อีกต่อไป ไม่ต่างจากชีวิตคู่ที่อาจประสบปัญหาเมื่อเวลาผ่านไป
และก็ไม่ได้มาจากตัวคนสองคนด้วย
ความสัมพันธ์ที่เคยมีประสิทธิภาพจึงอาจไม่มีประสิทธิภาพอีกแล้ว ผลก็คือ
ต่างฝ่ายต่างก็เริ่มต้นกระบวนการค้นหาใหม่ เพื่อให้ได้คู่ที่เหมาะสมต่อไป
ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
๓. เมื่อไรก็ตามที่โลกนี้มีคนที่เหมาะสมกับเรารออยู่
ความเป็นโสดก็จะดำรงอยู่เสมอ (In a world where there is a match for
everyone, there will still be singlehood.)
เมื่อการตามหางานที่เหมาะสมต้องอาศัยเวลา
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่การว่างงานของคนในสังคมจะมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา
เช่นเดียวกันกับการตามหาคนที่เหมาะสมนั้นก็ต้องใช้เวลา
และความล้มเหลวก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ
ซึ่งการตามหาคนใหม่ที่เหมาะสมก็ต้องใช้เวลาอีก
ในสังคมจึงต้องมีคนโสดดำรงอยู่
ทั้งนี้ก็เพราะคนเหล่านั้นกำลังรอคนที่เหมาะสมนั่นเอง
๔. สำหรับคู่ที่กำลังเริ่มต้น การอยู่กับคนๆ นี้ต้องดีกว่าการอยู่เป็นโสด
แต่การจะคบกันได้ตลอดรอดฝั่งนั้น การอยู่กับคนๆ
นี้ต้องดีกว่าการอยู่กับคนอื่น (For a couple to form, both must be better
off than when single. And for a couple to remain, both must be better
off than with the next best alternative.) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ
คู่ที่ดีต้องเสริมกันและกัน (generate surplus) เช่น ต่างฝ่ายต่างมีความสุข
และจะต้องมีความสุขมากกว่าค่าคาดหวังของการตามหาคนใหม่ด้วย
ไม่ต่างไปจากความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้างที่ต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน
และต้องดีกว่าที่จะได้รับจากแรงงานหรือนายจ้างคนอื่นด้วย
มิฉะนั้นการเปลี่ยนงานก็อาจเกิดขึ้นได้
๕. บางครั้งเราตกลงเป็นแฟนกับคนบางคน เพราะเหนื่อยที่ต้องรอคอย อย่าเชียว!
(Sometimes, people settle because they are tired of waiting. Don’t!)
เพราะมันจะกลายเป็นการจับคู่ที่ไม่ยั่งยืน (unstable match)
และเท่ากับว่าเราทำลายโอกาสที่ดีกว่าที่กำลังจะมาถึง
ไม่ต่างไปจากการตัดสินใจเซ็นต์สัญญาทำงานอะไรก็ได้ทั้งที่เราไม่ได้ชอบ
แค่เพราะไม่อยากรอคอย ซึ่งงานใหม่ที่ดีกว่าจำนวนมากก็จะหายไปทันที
๖. ความพยายามในการค้นหาจะให้ผลดีกว่าถ้าเรามีตัวเลือกมากๆ (The search
effort pays off more if there are many competing partners.)
ประเด็นนี้เป็นจริงสำหรับชายหรือหญิงก็ได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนระหว่างเพศชายและหญิง (sex ratio)
ของแต่ละสังคม ถ้าเพศใดมีจำนวนน้อยกว่า
เพศนั้นก็มีแนวโน้มที่จะมีอำนาจเหนือกว่า
นี่เป็นเหตุผลเดียวกับที่(โดยรวมแล้ว)นายจ้างมีอำนาจต่อรองในการจับคู่
มากกว่าแรงงาน ก็เพราะนายจ้างมีจำนวนน้อยกว่าแรงงานนั่นเอง
๗.
บริษัทจัดหาคู่(หรือพ่อสื่อแม่สื่อ)จะทำให้เราเจอคนที่เหมาะกับเราเร็วขึ้น
และลดช่วงเวลาของการเป็นโสดลง (Dating agencies bring people together more
quickly and reduce the incidence of singlehood.)
เช่นเดียวกับบริษัทจัดหางาน
แต่เงื่อนไขก็คือบริษัทเหล่านี้ต้องอยู่ในตลาดแข่งขันด้วย
มิฉะนั้นแล้วบริษัทเหล่านี้ก็จะไม่แสวงหาคู่หรืองานที่ดีพอมาให้เรา
๘. แฟนกันที่เข้ากันได้ดีจะนำไปสู่การแต่งงาน (The couples that form are
best for the partners that make the proposal.)
และความที่ผู้ชายเป็นคนเสนอขอแต่งงาน
คล้ายกับนายจ้างที่เสมือนเป็นผู้เสนอสัญญาจ้างงาน
ผู้ชายหรือนายจ้างจึงดูเหมือนว่ามีบทบาทมากกว่าในการสร้างความสัมพันธ์กับ
ตัวผู้หญิงหรือแรงงาน ในโลกยุคใหม่ที่การคุ้มครองสิทธิแรงงานมีประสิทธิภาพ
และสิทธิหญิงและชายเท่าเทียมกันนั้น
ผู้หญิงก็ควรจะเป็นคนเอ่ยปากขอผู้ชายแต่งงานเพื่อรักษาดุลอำนาจของสิทธิเอา
ไว้ได้อย่างชอบธรรมเช่นกัน อย่าไปกลัว
๙. ผู้หญิงจะได้ประโยชน์จากการแต่งงานมากกว่าผู้ชาย ถ้าเขาเรียนรู้ที่จะรอ
(Women have a better outcome in marriage if they find a way to sweeten
their wait.) สมมติว่าผู้ชายเป็นคนขอแต่งงานและผู้หญิงเป็นฝ่ายตอบสนอง
บทบาทของผู้หญิงจึงไม่ต่างไปจากแรงงานในตลาดแรงงาน
แต่แรงงานที่กำลังหางานที่เหมาะสมอยู่นั้น
มีโอกาสที่ได้รับผลประโยชน์ในช่วงเวลาที่ว่างงาน (unemployment benefits)
ซึ่งไม่สามารถหาได้ในช่วงเวลาที่มีงานทำแล้ว ในเชิงของการมีแฟน
ผู้หญิงก็สามารถแสวงหาความสุขบางอย่างได้ในช่วงโสด
ซึ่งทำไม่ได้ในเวลาที่มีแฟนแล้ว เช่น เมาท์กับเพื่อนบ่อยๆ ไปปาร์ตี้ทุกวัน
ออกเที่ยวไม่กลับบ้าน เป็นต้น
ซึ่งความสุขของคนโสดเหล่านี้จะช่วยยืดระยะเวลาการรอคอยออกไป
ซึ่งเขาก็จะมีโอกาสได้เจอคู่ที่เหมาะสมมากขึ้น
๑๐. พวกเขาจะมีผลได้ที่ดีขึ้น
ถ้าพวกเขาตกลงและบังคับใช้ข้อตกลงร่วมกันว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ
(They also have a better outcome if they agree and enforce collectively
what they expect.) นั่นคือ การทำตามข้อตกลงที่ได้เจรจาไว้ตั้งแต่ต้น
จะช่วยให้แรงงานและนายจ้างอยู่กันไปได้นาน
เช่นเดียวกันกับคู่หญิงชายที่มีการทำข้อตกลงสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกันเอาไว้
ก่อนเช่นกัน
นัยทางนโยบายที่สำคัญมากของ DMP Model ยังมีอีกสองประการ หนึ่งคือ
แบบจำลองยังช่วยอธิบายด้วยว่า ทำไมเมื่อเวลาที่เศรษฐกิจดี
อัตราการมีงานทำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
เนื่องจากทั้งแรงงานกับนายจ้างต้องใช้เวลาค้นหาซึ่งกันและกัน
แต่เมื่อเศรษฐกิจเกิดวิกฤต นั่นคือมีปัจจัยภายนอกมากระทบ
อัตราการมีงานทำกลับลดลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ก็เพราะผลิตภาพที่เคยมีในช่วงที่ผ่านมาอาจไม่เหมาะต่อกันอีกแล้ว
(เช่น ค่าจ้างสูงไป จำนวนแรงงานในสายการผลิตมากเกินไป) นั่นคือ
ในตลาดแรงงานมีความอสมมาตร (asymmetric)
ของการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการมีงานทำ (ในอีกด้านหนึ่ง การว่างงาน)
ดำรงอยู่ ดังนั้น การค้นหาใครสักคนจนเจอ จึงต้องใช้เวลา แต่บางครั้ง คนอื่น
ปัจจัยอื่น หรือสิ่งอื่นๆ
กลับสามารถเข้ามากระทบจนทำให้ความรักระหว่างคนสองคนล่มลงอย่างรวดเร็วได้
สองคือ ในตลาดแรงงานนั้น
ค่าจ้างดุลยภาพในงานประเภทเดียวกันไม่ได้มีค่าเดียว แต่จะมีเป็นช่วง เช่น
เงินเดือนวิศวกรไม่ได้อยู่ที่สี่หมื่นบาท แต่จะอยู่ที่สามถึงห้าหมื่นบาท
เป็นต้น
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแต่ละคนมีความอดทนหรือพยายามค้นหางานที่เหมาะสม
ไม่เท่ากัน คนจำนวนหนึ่งจึงยอมรับงานที่ตนเองไม่ได้ชอบ
เพราะไม่อยากต้องรอคอย ค่าจ้างจึงมีหลากหลายแล้วแต่ความอดทนของแต่ละคน
ดังนั้น การมีแฟนของคนจำนวนมากจึงไม่มีความสุข หรืออาจมีความสุขไม่มากนัก
ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากเหตุผลมากมาย
แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะคนจำนวนหนึ่งนั้นมีแฟนเพียงเพราะไม่อยากเป็นโสด
หรือคบกันเพียงเพราะไม่อยากรอคอย เท่านั้น
โดยสรุปก็คือ การค้นหาใครสักคนจนเจอ ต้องใช้ความอดทนและเวลา หากยังไม่เจอ
แนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเสนอแนะให้อดทนรอ
ซึ่งอาจใช้ช่วงเวลาที่รอนี้หาความสุขตามประสาคนโสดไป แต่สำหรับคนที่เจอแล้ว
แนวคิดนี้ก็ให้ระวังการมีคนอื่นหรือปัจจัยอื่นเข้ามากระทบ
ซึ่งอาจสั่นคลอนความรักระหว่างคนสองคนได้
โดยอย่าลืมว่ามันเป็นเรื่องของคนสองคน
อย่างน้อยเศรษฐศาสตร์ก็คงช่วยให้เราเห็นในอีกหลายมุม
No comments:
Post a Comment