Wednesday, July 7, 2010

สัณชาติญาณของแมงป่อง จาก ท่าน ว.วชิรเมธี‏

เร็วๆ นี้มีลูกศิษย์คนหนึ่งมาเล่านิทานให้ผู้เขียนฟัง
พอได้ฟังแล้วก็ทำให้เกิดความสว่างโพลงในหัวใจได้ไม่น้อย
คุณน่าจะได้ฟังนิทานเรื่องนี้ดู บางทีอาจจะทำให้หายข้องใจได้บ้างว่า
คนบางคนนั้น เขามี "" ธาตุแท้ "" ของเขามาอย่างนั้นเอง

นิทานนั้นมีอยู่ว่า ......
มีอยู่วันหนึ่ง เจ้าแมงป่องตัวหนึ่ง
ไต่ไปมาตามริมฝั่งน้ำจนเซ็งชีวิต เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า
ถ้าได้ข้ามน้ำไปยังฝั่งโน้น
คงมีอะไรให้ทำมากกว่าการไต่ไปมาอยู่ที่เดิมอย่างซ้ำซากเป็นแน่
มันมองหาวิธีที่จะข้ามน้ำไปยังฝั่งโน้นอยู่หลายวัน และในที่สุด
โอกาสก็มาถึงจนได้
เมื่อมันพบกบตัวหนึ่งกำลังจะว่ายข้ามน้ำไปยังฝั่งตรงข้ามพอดี
เจ้าแมงป่องเห็นเช่นนั้น จึงขอเป็นผู้โดยสารขี่หลังกบไปชมวิวฝั่งโน้นบ้าง
กบนึกสังหรณ์ใจแปลกๆ จึงถามว่า
"" แมงป่องเพื่อนรัก เธอจะรับประกันได้อย่างไรละว่า
เมื่อฉันให้เธอขี่หลังข้ามไปฝั่งโน้นแล้ว เธอจะไม่แว้งมาต่อยฉัน ""
"" กบเพื่อนรัก ทำไมจึงมองฉันในแง่ร้ายเช่นนั้น
ถ้าคนอย่างฉันไม่มีคุณธรรมต่อเพื่อนเช่นเธอเสียแล้ว ในโลกนี้
คงหาคนดีไม่ได้อีกแล้ว ""
"" มั่นใจนะว่าเธอจะไม่ต่อยฉันกลางแม่น้ำแน่ๆ "" กบคาดคั้น
"" โธ่เพื่อนเอ๋ย - - ถ้าฉันต่อยเธอ ฉันก็จมไปพร้อมๆ
กับเธอนะสิ "" แมงป่องอธิบายอย่างสมเหตุสมผล
"" เออ จริงของเธอสินะ มาสิ
ถ้างั้นเธอขึ้นขี่หลังฉันได้เลย เราจะข้ามไปฝั่งโน้นด้วยกัน ""
ว่าแล้ว เจ้าแมงป่องก็ได้ขี่หลังกบสมใจ
กบน้อยพาเพื่อนร่วมทางลอยไปสักพักหนึ่งก็จะถึงฝั่ง
พอเห็นฝั่งเคลื่อนตัวมาใกล้ทุกที
เหลืออีกเพียงศอกเดียวเท่านั้นก็จะถึงฝั่ง
แมงป่องก็เผลอตัวต่อยหลังกบเข้าอย่างถนัดถนี่
กบร้องด้วยความเจ็บปวดขึ้นสุดเสียง พอรู้สึกตัว กบก็หันมาถามแมงป่องว่า
"" ไหนแกรับปากว่าจะไม่ต่อยฉัน แล้วนี่แกทำอะไรลงไป ""
"" ไม่รู้สิ ฉันไม่ได้คิดจะต่อยเธอเลย
แต่มารู้สึกตัวอีกที ฉันก็ต่อยเธอไปแล้ว ""
แมงป่องตอบอย่างเสียไม่ได้ไม่ยี่หระกับสิ่งที่ตนทำแม้สักนิด
อนิจจา กบน้อยพอลอยแตะฝั่ง ก็ถึงแก่กรรมไป
ส่วนแมงป่อง ก็ขึ้นฝั่งอย่างสบายใจ
ดูไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไรกับสิ่งที่ตนเป็นคนก่อแม้แต่น้อย... ""
ทันทีที่ฟังนิทานเรื่องนี้จบ ผู้เขียนนึกถึงคำๆ
หนึ่งขึ้นมาทันที นั่นคือคำว่า
"" สันดาน ""
ขออภัย หากคำนี้เป็นคำไม่สุภาพ แต่ผู้เขียนรู้สึกว่า
ในโลกนี้ มีคนบางประเภทจริงๆ ที่เกิดมาแล้วทำตัวเป็น "" อันธพาล ""
โดยสายเลือด โดยความเคยชิน จนเป็นนิสัย
เราไม่ทราบว่า คนที่รู้สึกมีความสุขเสมอ
กับการได้ทำร้ายคนอื่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมนั้น
เขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร ได้รับการศึกษามาอย่างไร
แต่พอมาเจอกับเรา
เขาก็ได้กลายเป็นคนที่มีความสุขกับการเป็นคนเลวไปเสียแล้ว
สำหรับคนประเภทนี้ คุณคงไม่ต้องไปทำร้าย
หรือตอบโต้เขาอีกแล้ว การที่เขาเป็นคนเช่นนั้น
นับว่าเป็นเคราะห์กรรมของเขามากพออยู่แล้ว
"เพราะทั้งชีวิตนี้คนเช่นนี้จะไม่ได้รับความรักจากใครเลย"
ลึกๆแล้วคนที่มีความสุขกับการหาทุกข์ให้คนอื่นนั้น เขาเป็นคนน่าสงสาร
บางทีหากเราสามารถคลี่ปมของเขาออกมาดูได้ ก็จะเห็นว่า
คนอย่างนี้ควรได้รับความเห็นใจ มากกว่าจะซ้ำเติมเขา
ปล่อยเขาไปเถอะคุณ
การที่เขาเป็นคนเลว (โดยสันดาน) แล้วยังไม่รู้สึกตัวนั้น
ก็ทำให้เขาสร้างกรรมหนักหนาสาหัสแก่ตัวเองมากพออยู่แล้ว
เราไม่ควรจะเลวร่วมขบวนกับเขา ด้วยการหาวิธี "" เอาคืน "" แก่เขาเลย
การไม่ยุ่งกับคนประเภทนี้ คือ วิธีรับมือที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

พระพุทธเจ้าเคยเล่านิทานว่า

ในอดีตชาติ
พระองค์ทรงเคยเกิดเป็นราชสีห์เจ้าป่า จู่ๆ
วันหนึ่งมีหมูสกปรกที่ชอบนอนกลิ้งเกลือกในหลุมอุจจาระเหม็นคลุ้งมาท้าสู้กัน
ราชสีห์เจ้าป่ามองดูเจ้าหมูสกปรกแล้วก็คำรามขึ้นว่า
"" เจ้าหมูสกปรกเอ๋ย หากเจ้าต้องการชัยชนะ
ข้าก็ยินดีจะยกชัยชนะนั้นให้เจ้าเดี๋ยวนี้เลย
แต่จะให้ข้าไปสู้กับเจ้านั้น ข้าไม่สู้หรอก
ข้ายินดียอมแพ้เสียยังจะดีกว่าไปสู้กับหมูสกปรกอย่างเจ้า ""

คนบางคนนั้น มีธาตุแท้ไม่ต่างอะไรกับแมงป่อง
และมีความสุขกับการทำความเลวเหมือนกับหมูป่าที่ชอบคลุกอุจจาระ
หากคนเห็นเช่นนี้เข้ามาป้วนเปี้ยนในชีวิตของเรา วิธีที่ดีที่สุด
ไม่ใช่การไปสู้กับเขา แต่ควรถอยออกมาจะดีกว่า การถอยนั้น
บางครั้งไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง

คนบางประเภทนั้น
เขาเป็นมนุษย์ประเภทสูญเสียสามัญสำนึกขั้นพื้นฐาน
ไม่รู้จักแยกแยะดีชั่วถูกผิด หากคุณไม่ถอยให้เขา ก็มีแต่เจ็บตัวฟรี
ดีไม่ดีอาจวอดวายหายนะถึงชีวิต และจะหวังให้คนชนิดนี้สำนึกผิดนะหรือ
ไม่มีทางเสียหรอก
แมงป่องน่ะคุณ เวลามันต่อยใคร
มันยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไปได้อย่างไร
จะให้เขาสำนึกจึงเป็นเรื่องไกลเกินฝัน
ทางที่ดีที่สุด คือ อยู่ห่างๆ ไว้ ปลอดภัยที่สุด.


โดย : ท่านว.วชิรเมธี

No comments:

Post a Comment